Sovereign Cloud ช่วยยกระดับความปลอดภัยของ Mobile Banking และบริการดิจิทัลในภาคการเงินไทย

ทุกวันนี้การทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วแตะจอสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นผลจากพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการเงินอย่างรวดเร็ว ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ จึงไม่เพียงแต่ต้องรองรับปริมาณธุรกรรมดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลและการกำกับดูแลภายในประเทศอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

 

ในโลกการเงินดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งนี้ สถาบันการเงินไทยกำลังเผชิญ กับความท้าทายในการรองรับปริมาณธุรกรรมดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ปริมาณการใช้ Mobile Banking พุ่งสูงขึ้น 10.9 % ในปี 2023 พร้อมยอดธุรกรรมมากกว่า 29.55 ล้านรายการต่อปี จากกว่า 107 ล้านบัญชี แต่ความท้าทายที่แท้จริงไม่ได้อยู่เพียงตัวเลขเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับความปลอดภัยของข้อมูล ด้วยความท้าทายนี้ชี้ให้เห็นว่าภาคการเงินของไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว Sovereign Cloud หรือบริการคลาวด์ที่คำนึงถึงอธิปไตยของข้อมูล จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนอง ข้อกำหนดของสถาบันการเงิน ในการมีระบบคลาวด์ที่ไม่เพียงแต่ทันสมัยและปลอดภัย แต่ยังสอดคล้องกับกฎหมายและนโยบายการกำกับดูแลของประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์

 

แล้ว Sovereign Cloud คืออะไร

Sovereign Cloud คือ บริการคลาวด์ที่ออกแบบมาเพื่อจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลภายในเขตอำนาจศาลของประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และการกำกับดูแลของประเทศนั้น ๆ เท่านั้น หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ Sovereign Cloud เปรียบเสมือนการเก็บของสำคัญไว้ที่บ้านของคุณเอง แทนที่จะฝากไว้ที่บ้านคนอื่น ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าของสำคัญของคุณจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างปลอดภัยในบ้านตัวเอง และไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมายุ่งกับของสิ่งนั้นได้ ดังนั้น สิ่งที่ทำให้ Sovereign Cloud แตกต่างจากคลาวด์ทั่วไปคือการรับประกันว่าข้อมูลที่ถูกจัดเก็บจะไม่ถูกส่งไปยังประเทศอื่น และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายต่างชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อความลับของข้อมูล

 

หากกล่าวถึง Sovereign Cloud ในบริบทของภาคการเงินไทย จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล แต่เป็นเรื่องของการสร้างความไว้วางใจ และการกำกับดูแลโดยกฎหมายของรัฐอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงการให้บริการด้านข้อมูลของสถาบันการเงินจะถูกปกป้องอย่างเข้มงวดภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับธนาคารและลูกค้า Sovereign Cloud จึงเปรียบเสมือนการมี “บ้านของตัวเอง” ในการจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกเรียกดูข้อมูลหรือการแทรกแซงโดยหน่วยงานต่างชาติ

Sovereign Cloud ช่วยยกระดับความปลอดภัยของ Mobile Banking และบริการดิจิทัลในภาคการเงินไทย
ประโยชน์หลักที่ Mobile Banking จะได้รับจากการก้าวสู่ Sovereign Cloud

Sovereign Cloud จะช่วยให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย โดยรักษาสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งมีแง่มุมที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ความยืดหยุ่นที่ปลอดภัย Sovereign Cloud ช่วยให้ธนาคารปรับขยายหรือลดขนาดระบบการให้บริการได้ตามความต้องการ เช่น รับมือกับการเพิ่มขึ้นของธุรกรรมช่วงสิ้นเดือน วันเงินเดือนออก หรือช่วงเทศกาลต่าง ๆ ที่มีการใช้งาน Mobile Banking สูงขึ้นกว่าปกติ โดยที่ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์ และ ทรัพยากรไอทีล่วงหน้าเกินจำเป็น จึงช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานด้วยการจ่ายตามการใช้งานจริง และสำคัญคือ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้กรอบกฎหมายไทย ทำให้ธนาคารไม่ต้องกังวลเรื่องการละเมิดข้อกำหนดด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
  2. ป้อมปราการข้อมูลที่แข็งแกร่ง ข้อมูลสำคัญของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า หรือประวัติการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกเก็บรักษาและสำรองข้อมูลในศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ภายในประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกเรียกดูข้อมูลหรือการแทรกแซงโดยกฎหมายหรือหน่วยงานต่างชาติ เนื่องจาก Sovereign Cloud ถูกออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลของสถาบันการเงินไทย “ไม่อยู่ใต้เขตอำนาจศาลอื่น” อย่างแท้จริง นอกจากนี้ Sovereign Cloud ยังมาพร้อมกับการเข้ารหัสข้อมูลแบบ End-to-End Encryption การควบคุมและจำกัดการเข้าถึงข้อมูล และระบบตรวจสอบการเข้าถึงแบบโปร่งใส (Audit Logging) โดยจากการสำรวจของ International Data Corporation หรือ IDC พบว่า 60% ขององค์กรทั่วโลกที่ใช้ Sovereign Cloud เล็งเห็นว่าการเพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคือผลประโยชน์สำคัญอันดับหนึ่ง
  3. มั่นใจได้ว่าปฏิบัติตามกฎระเบียบภายใต้กฎหมายไทย เมื่อข้อมูลและระบบทั้งหมดอยู่ภายใต้กฎหมายไทยและดูแลโดยผู้ให้บริการที่ปฏิบัติตามกฎหมายของไทย จึงทำให้ผู้ใช้บริการสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการใช้บริการคลาวด์ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

 

ระบบ Sovereign Cloud ที่ออกแบบมาอย่างดี จะมีเครื่องมือที่ช่วยให้ Mobile banking ของธนาคารและสถาบันการเงินจัดการนโยบายการเก็บรักษาและการโอนย้ายข้อมูลตามกรอบการโอนข้อมูลข้ามประเทศได้อย่างอัตโนมัติ เช่น ป้องกันการส่งข้อมูลไปเซิร์ฟเวอร์ในประเทศที่ไม่ได้รับการรับรอง เป็นต้น นอกจากนี้ Sovereign Cloud ยังช่วยให้การตรวจสอบและรายงานการปฏิบัติตามกฎหมายทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีการบันทึกกิจกรรมทั้งหมดไว้อย่างเป็นระบบ และผู้ตรวจสอบสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ทันทีเมื่อต้องการตรวจสอบ

Sovereign Cloud ช่วยยกระดับความปลอดภัยของ Mobile Banking และบริการดิจิทัลในภาคการเงินไทย
Sovereign Cloud จุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคการเงิน

ภาคการเงินไทยกำลังก้าวผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดังเห็นได้จากการเติบโตของบริการ Mobile Banking และ e-Payment ที่ขยายตัวเป็นวงกว้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งการสนับสนุนของภาครัฐในการออกใบอนุญาต ธนาคารดิจิทัล (Virtual Bank) รายใหม่ๆ ในปี 2025 ได้เปิดทางให้ผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาแข่งขันนำเสนอบริการการเงินออนไลน์ หรือที่ “เกิดขึ้นบนคลาวด์” ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมต้องเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของตนเองเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยหลายธนาคารเริ่มศึกษาแนวทางการใช้คลาวด์ในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างศูนย์ข้อมูลภายในของธนาคาร กับบริการคลาวด์ภายนอก เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว และความคล่องตัวในการพัฒนาบริการใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลัก ของธนาคารไทยในการใช้คลาวด์คือการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านความมั่นคงและการคุ้มครองข้อมูลที่เข้มงวด ดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยกำหนดให้การนำระบบคลาวด์มาใช้ถือเป็นหนึ่งในประเภทของ “การจ้างงานภายนอกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ” ที่ธนาคารต้องจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการธนาคาร (board oversight) และต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อ ธปท. ปัจจุบันแม้ ธปท. และหน่วยงานกำกับอื่นๆ จะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้เอื้อต่อการใช้คลาวด์มากขึ้น เช่น ไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้าทุกครั้ง หากใช้บริการคลาวด์ในบางประเภทงาน แต่ก็ยังคงเน้นย้ำว่าสถาบันการเงินต้องมีระบบบริหารความเสี่ยงและมีมาตรการควบคุมดูแบผู้ให้บริการคลาวด์อย่างเหมาะสม

 

ปรากฏการณ์ Sovereign Cloud จึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับภาคการเงิน รัฐบาลและองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญของการควบคุมข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตนเอง เพื่อป้องกันการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติมากเกินไป และลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดย IDC คาดการณ์ว่าการลงทุนบน Sovereign Cloud ทั่วโลกจะเติบโตจาก 133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 เป็น 259 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2027 โดยมีอุตสาหกรรมที่ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด อย่างสถาบันการเงินเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตนี้

 

ตัวอย่างเทรนด์การใช้แนวคิด Sovereign Cloud เช่น สหภาพยุโรป ได้พัฒนาโครงการ GAIA-X เพื่อสร้างความเป็นอิสระทางเทคโนโลยี โดยลดการพึ่งพาผู้ให้บริการคลาวด์จากสหรัฐอเมริกา และจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้ Sovereign Cloud ร่วมกับ AI เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงินโดยไม่ละเมิดกฎหมายท้องถิ่น ออสเตรเลีย กำหนดนโยบาย “Digital Sovereignty Strategy” เพื่อกำหนดให้ข้อมูลสำคัญต้องเก็บไว้ภายในประเทศ และสิงคโปร์ ได้ปรับใช้แนวคิด “Trusted Cloud” สำหรับภาครัฐและสถาบันการเงินเพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานต่างชาติ

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจแนวโน้มปี 2025 ของ IDC พบว่า 40% ขององค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกจะกำหนดให้ผู้ให้บริการคลาวด์ต้องมีมาตรการรองรับ Data Sovereignty ก่อนที่จะตกลงใช้บริการ นี่แสดงให้เห็นว่ากระแส Sovereign Cloud ไม่ใช่เพียงการตามเทรนด์ แต่เป็นการตอบสนองความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นสำหรับการปกป้องข้อมูลและสร้างความมั่นใจในการจัดเก็บข้อมูล

 

ความท้าทายและกลยุทธ์ของสถาบันการเงินเพื่อปรับตัวสู่ Sovereign Cloud

สถาบันการเงินไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากหลายด้าน ทั้งคู่แข่งรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนอย่าง Virtual Banks ความคาดหวังของลูกค้าที่ต้องการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง และข้อกำหนดของรัฐในการปกป้องข้อมูลที่เข้มงวดมากขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้ สถาบันการเงินไทยจึงจำเป็นต้องมองหาโซลูชันคลาวด์ที่ตอบโจทย์ทั้งความสะดวกรวดเร็วและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ไปพร้อมกัน Sovereign Cloud จึงกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญที่จะช่วยให้สถาบันการเงินไทยสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล หากต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Sovereign Cloud อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองการใช้งาน Mobile Banking และการทำธุรกรรมทางการเงิน ให้ปลอดภัย ควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ผู้บริหารสามารถพิจารณาข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ต่อไปนี้ในการวางแผน และดำเนินโครงการ Sovereign Cloud ภายในองค์กร ดังนี้

  1. วางแผนการแบ่งข้อมูลตามระดับความสำคัญ เริ่มต้นด้วยการแยกข้อมูลตามระดับความอ่อนไหว ข้อมูลลูกค้าและธุรกรรมที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลควรจัดเก็บบน Sovereign Cloud ภายในประเทศ ส่วนข้อมูลทั่วไปที่ความเสี่ยงต่ำกว่าอาจใช้ Public Cloud ร่วมได้ ในขั้นตอนนี้ควรปรึกษาฝ่ายกฎหมายและกำกับดูแลเพื่อทำ Cloud Policy ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแล
  2. เลือกพันธมิตรคลาวด์ที่เชื่อถือได้ การเลือกผู้ให้บริการ Sovereign Cloud เป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด ควรพิจารณาจากมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการรับรอง เช่น ISO 27001 หรือ PCI-DSS และที่สำคัญคือสถานะทางกฎหมายของผู้ให้บริการที่ต้องจดทะเบียนและดำเนินงานภายใต้กฎหมายไทย สัญญาการใช้บริการควรครอบคลุมการยินยอมให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งมีการรายงานผลการดำเนินงาน และเงื่อนไขการทำลายข้อมูลเมื่อเลิกใช้บริการ
  3. ออกแบบระบบแบบผสมผสานที่มีความยืดหยุ่น Sovereign Cloud ไม่จำเป็นต้องแทนที่ระบบเดิมทั้งหมดในครั้งเดียว ธนาคารสามารถใช้แนวทาง Hybrid Cloud โดยให้ระบบหลักอย่าง Core Banking ยังคงอยู่บนโครงสร้างเดิม ขณะที่ระบบใหม่อย่าง Mobile App, Chatbot และ Analytics พัฒนาบน Sovereign Cloud เพื่อความคล่องตัว นอกจากนี้ การออกแบบให้รองรับ Multi-Cloud จะช่วยป้องกันการผูกติดอยู่กับผู้ให้บริการรายเดียวและเพิ่มความยืดหยุ่นในการพัฒนาระบบมากยิ่งขึ้น
  4. เสริมความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสขั้นสูง แม้สถาบันการเงินจะใช้ Sovereign Cloud แล้ว แต่ยังต้องป้องกันข้อมูลด้วยตนเอง เปรียบเสมือนการมีบ้านที่ปลอดภัยแล้ว แต่ยังต้องล็อกตู้เซฟส่วนตัวอีกชั้นหนึ่ง สถาบันการเงินจึงควรเข้ารหัสข้อมูลด้วยรหัสลับที่เก็บไว้เองเท่านั้น แม้แต่ผู้ให้บริการคลาวด์ก็ไม่สามารถเปิดดูข้อมูลลูกค้าได้ โดยอาจนำระบบ Hardware Security Module (HSM) มาใช้ และกำหนด Identity and Access Management ที่รัดกุมพร้อมการยืนยันตัวตนหลายขั้นตอนสำหรับผู้ดูแลระบบ
  5. เตรียมแผนสำรองและกู้คืนระบบ ความน่าเชื่อถือของบริการดิจิทัลเป็นสิ่งที่ผู้บริโภค และหน่วยงานกำกับคาดหวังอย่างสูง ธนาคารจึงต้องมั่นใจว่าการย้ายไปยัง Sovereign Cloud จะไม่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของบริการเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ แผน Business Continuity Plan (BCP) และ Disaster Recovery (DR) ที่ครอบคลุมสำหรับระบบคลาวด์เป็นสิ่งจำเป็น ในทางปฏิบัติ ควรเลือกผู้ให้บริการ Sovereign Cloud ที่มีศูนย์ข้อมูลหลายแห่งภายในประเทศเพื่อรองรับการทำงานอย่างต่อเนื่อง Availability Zone หรือ Region  รวมทั้งกำหนดเป้าหมายเวลาในการกู้คืนระบบ (RTO) และจุดกู้คืนข้อมูล (RPO) ให้มีมาตรฐาน อีกทั้งต้องทดสอบการกู้คืนระบบเป็นระยะ และที่สำคัญคือระบบสำรองต้องเก็บในประเทศ เพื่อรักษาหลักการของ Sovereign Cloud ที่ต้องได้รับการปกป้องจากกฎหมายภายใน
  6. สร้างทีมงานคลาวด์ที่เข้มแข็ง การเปลี่ยนผ่านสู่ Sovereign Cloud อีกนัยหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งทำให้สถาบันทางการเงินต้องฝึกอบรมบุคลากรตั้งแต่ทีมไอที ทีมพัฒนา ไปจนถึงฝ่ายตรวจสอบ การจัดตั้ง Cloud Center of Excellence เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรฐานการใช้คลาวด์ และสร้างความร่วมมือกับผู้ให้บริการในการถ่ายทอดความรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการปรับตัวสู่ Sovereign Cloud
  7. สร้างระบบกำกับดูแลและติดตามผล ควรมีการจัดตั้งกลไกดูแลการใช้เทคโนโลยีที่มีผู้บริหารระดับสูงร่วมรับผิดชอบ โดยอาจกำหนดตัวชี้วัดความเสี่ยงสำคัญ เช่น อัตราการเกิดเหตุด้านความมั่นคงปลอดภัยหรือช่วงเวลาหยุดให้บริการ ติดตามพัฒนาการด้านกฎเกณฑ์และมาตรฐานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และทดสอบ Incident Response สำหรับระบบคลาวด์เป็นระยะเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุไม่คาดฝัน
Sovereign Cloud ช่วยยกระดับความปลอดภัยของ Mobile Banking และบริการดิจิทัลในภาคการเงินไทย
บทสรุปการก้าวสู่อนาคตการเงินไทยด้วย Sovereign Cloud

Sovereign Cloud ไม่ใช่แค่การอัปเกรดเทคโนโลยี แต่เป็นการวางรากฐานของระบบนิเวศให้สถาบันการเงิน และบริการดิจิทัล ที่ทันสมัยและไว้วางใจได้ ในยุคที่การแข่งขันทางการเงินเข้าสู่มิติใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ธนาคารที่เลือกใช้ Sovereign Cloud จะได้เปรียบในการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าและปฏิบัติตามกฎหมายภายในได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ถึงเวลาแล้วในการเปลี่ยนผ่านสู่ Sovereign Cloud ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนที่รอบคอบ เริ่มตั้งแต่การแบ่งประเภทข้อมูล การเลือกพันธมิตรที่เหมาะสม การออกแบบระบบที่ยืดหยุ่น ไปจนถึงการพัฒนาทีมงานและระบบกำกับดูแล ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะนำสู่ความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า ความมั่นใจในการปกป้องข้อมูล และความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

 

สำหรับภาคการเงินที่ต้องการก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน การเลือกใช้โซลูชันคลาวด์ที่ผสานความปลอดภัย ความยืดหยุ่น และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ ด้วย AIS Cloud Powered by Oracle Cloud Infrastructure โครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในไทย ที่เป็น Thai Hyperscale Cloud  แห่งแรกให้บริการโดยองค์กรภายใต้กฎหมายไทยที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งการตอบสนองที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ AIS Business พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนสถาบันการเงินไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างปลอดภัยและมั่นคง

วันที่เผยแพร่ 27 กรกฏาคม 2568

แหล่งอ้างอิง:

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย. Regulations on IT Outsourcing for Financial Institutions., From: bot.or.th
  •  Alan Zeichick. What Is a Sovereign Cloud? Why Is It Important?, From: oracle.com
  • Shoaib Yousuf et al. Sovereign Clouds Are Reshaping National Data Security., From: bcg.com
  •  The Fintech Times. Sovereign Cloud Touted as Enabler for AI in Regulated Finance. , From: thefintechtimes.com
  • ISACA. Maintaining Sovereignty in the Cloud: Controlling Your Digital Future. , From: isaca.org
  • The Nation Thailand. Financial transactions via internet banking decreased last year, BOT reports., From: nationthailand.com
  • The Nation Thailand. Thai Virtual Bank Licences Awarded to SCBX, Krungthai, and CP Group., From: nationthailand.com
  • DLA Piper. Data Protection Laws in Thailand – PDPA., From: dlapiperdataprotection.com

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business