5G และ Industry 4.0 – ยกระดับธุรกิจด้วยเครือข่ายที่ฉับไว ครอบคลุม และปลอดภัยสูง ใช้งานได้ทุกอุตสาหกรรม

เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทเป็นอย่างมากสำหรับ Industry 4.0 เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องจักรและอุปกรณ์ชนิดต่างๆ  และการต่อยอดไปยังการวิเคราะห์ข้อมูล และการสร้างระบบอัตโนมัติ โดยอาจพูดได้ว่า Industry 4.0 จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากเทคโนโลยี 5G

ในเซสชัน 5G Infrastructure for Industry 4.0 ในงาน AIS 5G for Business is NOW ที่ผ่านมา AIS และพาร์ทเนอร์ 4 ราย ได้แก่ Microsoft, HPE, Huawei และ SCG ได้ส่งตัวแทนมาเล่าให้เราฟังว่าการใช้ 5G นั้นสามารถช่วยธุรกิจปรับเปลี่ยนเข้าสู่ Industry 4.0 ได้อย่างไร มีการนำไปใช้งานในรูปแบบใด และเกิดประโยชน์เช่นไรบ้าง ท่านที่พลาดการเข้าชมไป สามารถติดตามสรุปได้จากบทความนี้

Industry 4.0 ขาด 5G ไม่ได้

เทคโนโลยี 5G ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายในการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้น เทคโนโลยี 5G จึงถูกออกแบบให้เป็นเครือข่ายที่ประสิทธิภาพสูง ยืดหยุ่น และคำนึงถึงความต้องการทางธุรกิจ และสำหรับ Industry 4.0 ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี 5G ก็มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ ได้เป็นอย่างดี 6 ประการด้วยกัน 

  1. มีความเร็วสูง รองรับการส่งและรับข้อมูลในปริมาณมาก และรองรับอุปกรณ์จำนวนมากในเครือข่าย
  2. มี Latency ต่ำ ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว​ ช่วยให้เกิดการประยุกต์ใช้งานในกระบวนการที่ต้องการความฉับไวแบบ Real-time
  3. เครือข่ายครอบคลุมพื้นที่กว้าง และสามารถกำหนดขอบเขตการใช้งานตามที่ต้องการ รวมถึงสามารถเชื่อมต่อได้ดีในสภาวะที่อุปกรณ์เคลื่อนที่อยู่ 
  4. แบ่งเครือข่ายเพื่อจัดสรรคุณสมบัติ (Network Slicing) ตามลักษณะการใช้งานที่ต้องการได้
  5. รองรับ Edge Computing ประมวลผลในอุปกรณ์ใกล้กับแหล่งข้อมูล ช่วยเพิ่มความเร็วและรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลภายในองค์กรได้เป็นอย่างดี
  6. รองรับการทำ 5G Private Network ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวให้กับข้อมูลภายในองค์กร 

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยี 5G จึงนับเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันอื่นๆเข้ามาใช้งานให้ธุรกิจสามารถทำงานได้ตามแนวคิดของ Industy 4.0 นั่นเอง

Microsoft & AIS: Innovate Anywhere from Cloud to Edge 

ในมุมมองของไมโครซอฟท์แล้ว การสร้างนวัตกรรมในธุรกิจ องค์กรต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งาน โดยแนวทางของ Microsoft Azure ที่ Microsoft ได้พัฒนาขึ้นจะตอบโจทย์ความต้องการทางเทคโนโลยี ความปลอดภัยน่าเชื่อถือ ความยืดหยุ่นเข้ากันได้กับการใช้งานทุกรูปแบบ และความคล่องตัวไม่ว่าจะทำงานจากที่ใดก็ตาม

อนาคตที่ Microsoft มองเห็น คืออนาคตของ Hybrid และ Multi-cloud ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการของการใช้งานแบบนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยคุณสมบัติความเร็วและการตอบสนองที่ฉับไว 5G จะช่วยให้ประสบการณ์การเชื่อมต่อระหว่างคลาวด์และระบบต่างๆนั้นไร้รอยต่อมากกว่าที่เคยเป็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของ Edge Computing ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากโดยธุรกิจ ซึ่ง Microsoft Azure ร่วมมือกับ AIS เปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยที่ต้องการใช้บริการ Microsoft Azure ใน Data Center ในประเทศไทย สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยหายห่วง และนอกจากนี้ หากองค์กรใดต้องการความเป็นส่วนตัวมากเป็นพิเศษ ก็ยังมีบริการ Azure Stack Hyper Converged Infrastructure ที่สามารถนำเครื่องมาวางไว้ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ขององค์กรเองได้

ระบบ Hybrid และ Multi-cloud จะได้รับการดูแลโดย Azure Arc ซึ่งนอกจากฟังก์ชันพื้นฐานด้านการเชื่อมต่อและดูแลระบบแล้ว ยังมีการเพิ่ม Services ต่างๆที่ให้บริการอยู่บน Public Cloud ของ Azure มาให้บริการถึงดาต้าเซ็นเตอร์ส่วนตัว เช่น ระบบจัดการฐานข้อมูล และ Azure Machine Learning 

อีกหนึ่งความร่วมมือระหว่าง AIS และ Microsoft คือโซลูชัน Private Multiple-access Edge Computing (MEC) ที่นำส่วนประมวลผลไปวางไว้ใกล้ผู้ใช้ที่สุดเพื่อลด Latency เพิ่มความเร็วในการตอบสนอง โดย AIS รับหน้าที่ผู้ดูแลเครือข่ายการเชื่อมต่อ และ Microsoft เป็นผู้จัดการด้านเทคโนโลยีการประมวลผลและคลาวด์ 

โซลูชัน Azure Arc และ Private MEC นี้ ได้มีการนำไปใช้ในธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น

  • Azure Arc enabled SQL Server บริหารจัดการฐานข้อมูลผ่าน Azure Portal ทั้งการตรวจสอบการทำงาน ตั้งค่า กำหนดนโยบายความปลอดภัย สามารถทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันอื่นๆ เช่น แอปพลิเคชันตรวจจับความเสี่ยงในฐานข้อมูล 
  • Azure Private MEC มีการนำไปใช้ เช่น อุตสาหกรรมค้าปลีก ช็อปปิ้งผ่าน AR และ VR,  อุตสาหกรรมลอจิสติกส์ ใช้โดรนตรวจสอบสินค้า, อุตสาหกรรมการแพทย์ ผ่าตัดระยะไกลผ่านเครื่องมือ AR และ VR 

5G มีการใช้งานจริงแล้วทั่วโลก

5G เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม โดยแอปพลิเคชันที่มักพบบ่อย มีด้วยกัน 4 ประเภท คือ

  1. ระบบ Automation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำงาน
  2. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำข้อมูลเชิงลึก (Insights) ไปตัดสินใจทางธุรกิจแบบ Data-driven
  3. การรักษาความปลอดภัยในโรงงานและที่ทำงาน รวมไปถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
  4. การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ที่ก่อให้เกิด Customer Experience ที่ดีขึ้น

ในปัจจุบัน ได้มีการนำ 5G ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมค้าปลีก การแพทย์ กีฬา และการเงิน หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ 5G ได้รับความนิยมและสามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด คืออุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจที่มีการดำเนินการในโรงงาน

HPE & Mobicrat: Bring Smart Factory to Life with 5G and MEC

HPE คือผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสำหรับองค์กร ทั้งระบบเครือข่าย และระบบโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ซึ่ง HPE เองก็เช่นกันที่เชื่อในอนาคตของ Hybrid และ Multi-cloud ดังที่พวกเขาได้เห็นความสำเร็จจากลูกค้าหลายราย

แน่นอนว่าสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับ Hybrid และ Multi-cloud คือการประมวลผลแบบ Edge Computing โดย HPE มีโซลูชัน Multiple-access Edge Computing (MEC) ที่จะเข้ามาช่วยจัดการการใช้งาน Edge Computing ภายในองค์กร โดยเมื่อใช้โซลูชันนี้ร่วมกับเครือข่าย 5G ที่ออกแบบเฉพาะเป็นส่วนตัว (Private Network) ธุรกิจจะสามารถใช้แอปพลิเคชันที่ต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็วได้ และในขณะเดียวกันยังคงคุณสมบัติของความเป็นส่วนตัวและการเก็บข้อมูลภายในองค์กร 

โดยคำว่า Multiple-access ใน MEC นั้นหมายถึงความสามารถในการเชื่อมต่อเครือข่ายหลายๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น 4G, 5G, Cloud, หรือแม้แต่ LAN โดยโซลูชัน MEC ของ HPE จะช่วยธุรกิจจัดการกับการเชื่อมต่อและการแบ่ง Traffic ทำให้โครงสร้างในส่วนนี้ยืดหยุ่น และธุรกิจยังสามารถใช้งานเครือข่ายเดิมที่มีอยู่ได้ 

Edge Computing จะเข้ามาเป็นกึ่งกลางกลางระหว่างเครื่องจักรและระบบ IT หลักขององค์กร คอยแบ่งเบาภาระการประมวลผลง่ายๆออกจากคลาวด์ ฐานข้อมูล และซอฟต์แวร์ธุรกิจที่ธุรกิจมีอยู่แล้ว

ตัวอย่างในโรงงานผู้ผลิตเซิฟเวอร์ของ HPE ที่ดำเนินการโดย Foxconn ในสาธารณรัฐเช็ก ได้มีการวางระบบกล้องและเซ็นเซอร์บนสายพานการผลิต เพื่อตรวจสอบคุณภาพของสินค้าผ่านภาพวิดีโอและข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ด้วยการวิเคราะ Deep Learning ห์ผ่าน Edge Computing ทำให้ระบบนี้สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วหากมีข้อผิดพลาด และสามารถแจ้งเตือน รวมถึงแก้ไขระบบการผลิตได้ทันทีหากมีปัญหา ระบบตรวจสอบนี้สามารถลดเวลาการตรวจสอบลงได้ถึง 96 วินาที และพบข้อผิดพลาดในผลิตภัณฑ์น้อยลงราว 25%

สนามบินในประเทศฝรั่งเศสก็ได้มีการนำ MEC ไปใช้งาน เพื่อสร้าง Private Network สำหรับการสื่อสารภาคพื้นที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้ MEC จากระบบเดิม ช่วยเพิ่มรูปแบบของการสื่อสารภายในสนามบินด้วย Collaboration Tool ที่มีการสื่อสารผ่านวิดีโอ รูปภาพ และแอปพลิเคชัน จากเดิมที่มีแต่การสื่อสารผ่านเสียงเพียงอย่างเดียว

จะเห็นได้ว่า MEC และการสร้าง Private Network นั้นมีประโยชน์และความยืดหยุ่นสูง สามารถออกแบบและปรับใช้กับธุรกิจได้ตามความต้องการไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด

5G Private Network เมื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวทวีความสำคัญ

องค์กรหลายองค์กรมีความกังวลถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นอย่างมาก และในวันนี้ เทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาขึ้นให้ยืดหยุ่นมากพอที่จะรองรับความต้องการเหล่านั้นของธุรกิจได้โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดอีกต่อไป สำหรับ AIS พวกเขาให้บริการ Private Network ใน 3 รูปแบบ คือ

  • Virtual Private Network (Type 1) – Private Network ที่มีการแชร์ทรัพยากรพื้นฐานและทรัพยากรการประมวลผลร่วมกับผู้ใช้อื่นๆ 
  • Zoning Virtual Private Network (Type 2) – Private Network ที่อยู่ในโซนที่จัดไว้โดยเฉพาะ มี Latency ที่ต่ำกว่า และคุณภาพการบริการที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับ Type 1 ขณะนี้ให้บริการเฉพาะพื้นที่ EEC
  • Dedicated Private Network (Type 3) – Private Network ที่ทรัพยากรทุกอย่างเป็นส่วนตัวขององค์กรอย่างแท้จริง มีการให้บริการเป็นพิเศษ สามารถติดตั้งภายในสถานที่ขององค์กรเองได้ 

Huawei: Light Up Digitalization Towards Industry 4.0 

ในปัจจุบัน การติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีอยู่ในอัตราที่กำลังพุ่งขึ้นสูง โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 5G มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 490 ล้านราย และมีอุปกรณ์ที่รองรับ 5G มากกว่า 800 รุ่น ด้วยคุณสมบัติและประสิทธิภาพที่สูง 5G ช่วยให้เราได้เห็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนได้มากมายหลายรูปแบบ 

ท่าเรือ Ningbo-Zhoushan ประเทศจีน ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ได้มีการนำ 5G เข้าไปใช้ในงานควบคุมเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ และรถขนส่งขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยอาศัยการทำ Network Slicing เพื่อแบ่งเครือข่ายออกจากกันเป็นสัดส่วน ลด Latency ภายในเครือข่าย และด้วย Latency ที่ต่ำ และอัตราการส่งรับข้อมูลที่สูง พนักงานจึงสามารถควบคุมเครื่องจักรจากระยะไกลผ่านภาพที่เห็นจากวิดีโอ รวมไปถึงตรวจสอบความเรียบร้อยของการดำเนินงานแบบ Real-time ผ่านกล้อง โดยการนำ 5G เข้ามาใช้งาน ช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินการของท่าได้ถึง 30%

Gree บริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็ได้มีการนำ 5G เข้าไปใช้เช่นกันในระบบตรวจสอบบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ โดยพวกเขาได้ใช้เทคโนโลยี Edge Computing ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายบรรจุภัณฑ์​ รวมทั้งฉลาก และป้ายแปะอื่นๆ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ยากนักและเหมาะสมกับการประมวลผลใน Edge โดย Gree ได้เปลี่ยนการตรวจสอบมาเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ซึ่งช่วยลดภาระ ประหยัดเวลา อีกทั้งยังลดข้อผิดพลาดอันอาจเกิดจากการทำงานของมนุษย์อีกด้วย

ด้าน Midea ผู้ผลิตเครื่องใช้ภายในครัวเรือน ได้ปรับปรุงระบบขนส่งอัตโนมัติภายในอาคาร จากเดิมที่เชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi และมักมีปัญหาสัญญาณขาดหายทำให้ต้องรีเซ็ตรถเข็นขนส่งอยู่เสมอ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ 5G ก็มีความเสถียรขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพได้ราว 8% และประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ 10%

IKD ผู้ให้บริการหล่อฉีดอลูมิเนียมรายใหญ่ ได้ร่วมกับ Huawei ปรับปรุงโรงงาน จากเดิมที่มีสายไฟรวมแล้วความยาว 10 กิโลเมตร เชื่อมต่อเครื่องจักรมากกว่า 600 เครื่อง และใช้ Wi-Fi เป็นเครือข่ายหลัก ก็เปลี่ยนมาเป็นการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 5G และการทำ Network Slicing ซึ่งช่วยลดภาระในการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาสายไฟ อีกทั้งยังช่วยให้เรื่องของความเร็วในการดำเนินงาน ทำให้สามารถทำเงินได้เร็วกว่าเดิมราว 10%

นอกจากนี้ 5G ยังสามารถช่วยในการลดความเสี่ยงของพนักงาน อย่างในกรณีของ China Southern Power Grid ที่เปลี่ยนรูปแบบของการตรวจสอบอุปกรณ์และเสาสัญญาณจากเดิมที่พนักงานต้องเข้าไปตรวจสอบด้วยตัวเองแม้อุปกรณ์จะอยู่ในจุดที่อันตราย มาเป็นการควบคุมโดรนผ่านเครือข่าย 5G และนำภาพวิดีโอไปวิเคราะห์ด้วย AI ใน Edge Computing ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยขึ้นแล้ว ยังช่วยให้งานตรวจสอบมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 80 เท่า

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของความร่วมมือระหว่าง Huawei และธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ในการนำ 5G ไปใช้สร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ ซึ่ง Huawei ก็ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันและเทคโนโลยีต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรองรับนวัตกรรมและความต้องการใหม่ๆในอนาคต

SCG ผู้ทดลอง 5G รายแรกของประเทศไทย 

ในปี 2020 ก่อนการประมูลเครือข่าย 5G จะเริ่มต้นขึ้น AIS ได้จับมือกับ SCG และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการทดสอบแอปพลิเคชัน 5G เป็นรายแรกของประเทศไทย ด้วยระบบควบคุมรถ Forklfit จากระยะไกล โดยผู้ขับอยู่ที่กรุงเทพ ในขณะที่รถ Forklift อยู่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี จากวันนั้นถึงวันนี้ SCG ได้นำ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำงาน และสร้างระบบการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้นตามเป้าหมายด้าน Sustainability 

แนวคิดของ Smart และ Green Operation นั้นเป็นแนวคิดที่ดำเนินควบคู่และส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อการดำเนินการ Smart แล้ว ก็จะมีประสิทธิภาพ ลดการทำงานโดยไม่จำเป็น ประหยัดพลังงาน และลดมลภาวะและของเสีย ซึ่ง 5G สามารถเข้ามาช่วยเชื่อมต่ออุปกรณ์เพื่อพัฒนาระบบอัตโนมัติ ระบบเฝ้าระวัง และคอยตรวจสอบสถานะเพื่อปรับปรุงการดำเนินการอยู่เสมอ 

หนึ่งตัวอย่างของการใช้งาน 5G โดย SCG คือระบบเหมืองหินปูนอัจฉริยะซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการขุด โดยใช้โดรนบินเผื่อถ่ายภาพ และส่งไปวิเคราะห์พื้นที่เพื่อกำหนดจุดที่ต้องขุดเจาะ รวมไปถึงคอยสอดส่องเฝ้าระวังในขั้นตอนการระเบิดหินปูน

ภายในระบบเหมืองดิจิทัลนี้ เครื่องจักรในการขุดเจาะและอุปกรณ์ต่างๆจะเชื่อมต่อกันด้วยเครือข่าย 5G และคอยส่งข้อมูลการทำงานไปยังห้องควบคุมอยู่เสมอ ทำให้สามารถตรวจสอบสถานะการทำงานได้ตลอดเวลา รู้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา อีกทั้งยังช่วยในการตรวจสอบผลลัพธ์ของการทำงานและการใช้ทรัพยากรด้วย นอกจากนี้ SCG ยังมีความร่วมมือกับ AIS ในการทดลองดำเนินงานแบบอัตโนมัติไร้คนควบคุม (Unmanned Operation) ในบางส่วนเพื่อเปลี่ยนการขุดเหมืองให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

ประโยชน์ที่ SCG ได้รับจากการพัฒนาระบบเช่นนี้ คือขั้นตอนการขุดเหมืองที่มีความปลอดภัยสูง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไร้ข้อผิดพลาด อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ด้าน Sustainability เนื่องจากทุกการกระทำภายในเหมืองถูกตรวจตราให้มีความแม่นยำ ไม่สร้างของเสียหรือใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น และมีการปรับปรุงอยู่เสมอเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดนั่นเอง 

ด้านโรงงานผลิต SCG ก็ได้มีการเริ่มใช้เทคโนโลยี Digital Twin สร้างแบบจำลองของโรงงานและการผลิต เพื่อเพิ่มความโปร่งใส (Visibility) ให้กับขั้นตอนงาน ให้สามารถตรวจสอบและ Monitor ทุกส่วนได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีระบบ Smart Maintenance ที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์และให้คำแนะนำในการซ่อมบำรุงได้ตลอดเวลาผ่าน Digital Twin ของอุปกรณ์นั้นๆ 

5G for Business is NOW 

จากการพูดคุยให้ความรู้ในเซสชันนี้ เราจะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยี 5G และ Industry 4.0 นั้นเป็นแอปพลิเคชันที่เกิดขึ้นและมีการใช้งานจริงแล้วในปัจจุบันทั้งในประเทศไทยไทยและต่างประเทศ โดยมีการประยุกต์ใช้ที่หลากหลายตามโจทย์ของแต่ละองค์กร และก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าที่ธุรกิจจับต้องได้จริง อีกทั้งยังรองรับการเติบโตภายในอนาคตด้วย

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่อ่านมาจนถึงตรงนี้และมีความสนใจจะนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปใช้ในธุรกิจเช่นกัน สามารถติดต่อทีมงาน AIS Business เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางและผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันที่เหมาะสมกับธุรกิจของท่าน โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อได้ทางเว็บไซต์ https://business.ais.co.th

วันที่เผยแพร่ 10 มกราคม 2565

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business