เทคโนโลยีกับความท้าทายใหม่ของการสร้างธุรกิจคลังสินค้าอัตโนมัติ

              ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ E-Commerce ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รวมไปถึงธุรกิจคลังสินค้าได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หน่วยงานในกำกับของ กระทรวงพาณิชย์ ได้ระบุว่า ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์รายใหม่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.9% โดยเฉพาะธุรกิจคลังสินค้าที่กลายเป็นดาวเด่นที่มีนักลงทุนให้ความสนใจและเข้าสู่สนามธุรกิจ จนกลายเป็นภาพของการแข่งขันที่มีความจริงจังมากขึ้น และเหตุผลของการปรับตัวอย่างรวดเร็วนี้ เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการซื้อและคำสั่งซื้อบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานนี้จึงเกิดการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่เกิดขึ้น

              ดังนั้นอนาคตของธุรกิจคลังสินค้านับจากนี้ไป จะกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ ไปพร้อม ๆ กับการเร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ขอเชิญผู้ประกอบการทุกท่านร่วมศึกษาแนวความคิดสู่การเป็นคลังสินค้าอัตโนมัติร่วมกัน

เจาะลึกถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ Warehouse ทั่วไปต้องกลายเป็น Automated Warehouse

              จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เกี่ยวกับสถานการณ์โลจิสติกส์ไทยเดือนกรกฎาคม 2566 ในหัวข้อการบริหารจัดการด้านการขนส่งและพื้นที่จัดเก็บคลังสินค้า ได้ระบุว่าเป็นธุรกิจที่มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 602.04 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.4% ของการลงทุนกลุ่มโลจิสติกส์ในประเทศไทย อีกทั้งศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังได้คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่า ธุรกิจคลังสินค้าไทยในปี 2565-2567 จะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.5% ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจคลังสินค้าเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจเพียงช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นจาก

1.พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

              ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า การลุกขึ้นปรับเปลี่ยนการบริหารและการให้บริการของธุรกิจคลังสินค้า ปัจจัยอันดับแรกเลยคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากวิกฤติโรคระบาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อ-ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ กันมากขึ้น จนเกิดเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ E-Commerce ที่ส่งผลให้ธุรกิจทั้งหมดที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานนี้ต้องปรับเปลี่ยนการให้บริการใหม่ เพื่อให้สอดรับกับกระแสที่เปลี่ยนไป

2. โครงการ EEC ที่ดึงดูดนักลงทุน

              โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) เป็นอีกหนึ่งโครงการจากภาครัฐบาลที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ภายใต้โครงการนี้ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจในการลงทุนกับอุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทย รวมไปถึงธุรกิจคลังสินค้าที่ผู้ประกอบการต่างปรับเปลี่ยนการให้บริการและใช้กลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เท่าทันกับภาคการผลิต ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

              การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวเป็นลำดับ ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อภาคการผลิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจคลังสินค้าที่ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับรองรับสินค้าจากภาคการผลิต ซึ่งถือว่าเป็นแรงสนับสนุนซึ่งกันและกัน ช่วยให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

              นอกจากนี้ทั้ง 3 ปัจจัยที่ได้กล่าวมา ยังนับเป็นความท้าทายใหม่สำหรับธุรกิจคลังสินค้าด้วยว่า ควรดำเนินธุรกิจต่ออย่างไร ต้องใช้กลยุทธ์แบบไหน ธุรกิจจึงจะเติบโตเพียงพอสำหรับรองรับภาคการผลิต และธุรกิจ E-Commerce ได้ รวมถึงปัจจัยด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายเช่นกัน เพราะสำหรับธุรกิจคลังสินค้าแล้ว พื้นที่จัดเก็บสินค้าคือหัวใจสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มพื้นที่จัดเก็บสินค้าได้ โดยที่ใช้งบประมาณไม่มาก ช่วยประหยัดต้นทุน และไม่สิ้นเปลืองค่าจ้างแรงงาน

              ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์ทั้งหมดนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนโฉมจาก Warehouse แบบดั้งเดิม ไปสู่ Automated Warehouse คลังสินค้าที่มีทั้งความชาญฉลาด และสามารถทำงานได้ด้วยระบบอัตโนมัติ

682632547

ธุรกิจคลังสินค้ายุคใหม่ ใส่ใจเทคโนโลยี เพื่อความมั่นคงในโลกยุคดิจิทัล

              ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในปี 2566 ได้สนับสนุนให้อุตสาหกรรมภาคการผลิต ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจคลังสินค้าให้เช่า มีการทำสัญญาเช่าใหม่ภายในคลังสินค้า โรงงาน และศูนย์กระจายสินค้ารวมกันถึง 2.5 แสนตารางเมตร อีกทั้งยังมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

              ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนโฉมจาก Warehouse แบบดั้งเดิมไปสู่ Automated Warehouse จึงเป็นการเปลี่ยนรูปแบบจากคลังสินค้าที่มีระบบรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคทั่วไป สู่การยกระดับการให้บริการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมกระบวนการทั้งหมดในคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้ธุรกิจคลังสินค้าประหยัดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้อย่างไร้ขีดจำกัด

              โดยมีผู้ประกอบการหลายรายได้เริ่มลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนให้การบริหารจัดการคลังสินค้ามีความสะดวกมากขึ้น เช่น การจัดการออเดอร์สินค้าแบบออนไลน์, การติดตามกระบวนการทำงานภายในคลังสินค้า, การเชื่อมต่อข้อมูลสำหรับการรับคำสั่งกระจายสินค้าจาก Marketplace ต่าง ๆ, การจัดเตรียมสินค้าด้วยความแม่นยำ, การเลือกและการแพ็คสินค้า และการเตรียมจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าปลายทาง เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกได้มากขนาดนี้ จะช่วยให้การทำงานภายในคลังสินค้ามีความรวดเร็วขึ้น สามารถทำงานต่อเนื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุนค่าจ้างแรงงาน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาเรื่องความผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ และลดปัญหาที่เกี่ยวกับตัวสินค้าเอง ซึ่งเราเรียกการปฏิบัติการเหล่านี้ว่า คลังสินค้าอัตโนมัติ (Automated Warehouse)

2321214945

เทคโนโลยีเพื่อคลังสินค้าอัตโนมัติ สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน

              การพัฒนาขึ้นของคลังสินค้าอัตโนมัติ เป็นไปเพื่อช่วยให้หัวใจสำคัญของคลังสินค้าคือ พื้นที่จัดเก็บสินค้า มีความเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งในอดีตก่อนที่เทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้า การสร้างคลังสินค้าจะเติบโตและขยายได้ตามขนาดที่ดินที่มีอยู่ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม หากการขยายธุรกิจได้มาถึงจุดสิ้นสุดของเขตพื้นที่ ผู้ประกอบการจะทำได้เพียงการเพิ่มงบประมาณเพื่อซื้อที่ดินเพิ่ม หรือการขอเช่าพื้นที่ต่อจากบุคคลอื่น

              แต่เมื่อกาลเวลาเดินทางมาถึงยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด นวัตกรรมเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียงบประมาณเพื่อขยายพื้นที่จัดเก็บสินค้าก็เกิดขึ้น จนกลายเป็นคลังสินค้าอัตโนมัติ ที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้พื้นที่ของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

              และจากการศึกษาวิจัยของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีผู้ประกอบการคลังสินค้าจำนวน 80% ได้วางกลยุทธ์ที่จะลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยรายละเอียดย่อยของกลยุทธ์นี้ มี 61% ที่จะใช้แผนระบบอัตโนมัติ ผสมกับการทำงานของบุคลากรภายในปี 2567 และมีอีก 27% ที่วางแผนว่า ภายในปี 2567 จะใช้ระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ไม่มีแรงงานมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย ซึ่งกลยุทธ์ทั้ง 2 รูปแบบนี้นำไปสู่การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อคลังสินค้าอัตโนมัติที่มีแนวทางไม่แตกต่างกันมากนัก ได้แก่

1. การใช้ระบบ IoT และซอฟต์แวร์อันทันสมัย เพื่อเฝ้าติดตามสินค้าแบบเรียลไทม์

              ซอฟต์แวร์อันทันสมัยเชื่อมต่อกับเครือข่ายอัจฉริยะ 5G ผ่านการทำงานและประมวลผลจากเซนเซอร์ของระบบ IoT จะช่วยให้การติดตามสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง และการรักษาความปลอดภัย สามารถทำได้แบบเรียลไทม์ ยกตัวอย่างเช่น

  • ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าตรวจสอบข้อมูลสินค้าคงคลังจากคลังสินค้าทุกสาขาได้ เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการจัดการคลังสินค้า เช่น แจ้งวันที่ผลิต แจ้งวันหมดอายุ และแจ้งชื่อสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น
  • ช่วยตรวจสอบและแจ้งเตือนสต็อกสินค้า ด้วยการแจ้งเตือนชื่อและประเภทสินค้า เมื่อมีการเพิ่มหรือลดจำนวนจนอยู่ในระดับที่ได้กำหนดไว้
  • ช่วยจัดระเบียบภายในคลังสินค้า ด้วยการกำหนดรหัสสินค้าบนผลิตภัณฑ์ได้โดยที่ไม่ซ้ำกัน สามารถติดตามค้นหาสินค้าได้ง่ายว่า จัดเก็บไว้ในตำแหน่งใด และมีสถานะปัจจุบันเป็นอย่างไร
  • ช่วยรักษาความปลอดภัยเมื่อตรวจสอบพบความผิดปกติ ทั้งการบุกรุกจากบุคคลภายนอก และการคุกคามทางไซเบอร์ ด้วยระบบแจ้งเตือนแบบครบวงจร ถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. การใช้ AI เพื่อสร้างบทบาทใหม่ให้กับมนุษย์

              AI เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นต่อคลังสินค้าอัตโนมัติ ด้วยการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดของ AI ช่วยให้ระบบภายในคลังสินค้ามีความชาญฉลาด และสามารถทำงานภายใต้การรักษาความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การควบคุมชั้นวางสินค้า, การควบคุมระบบขนถ่ายสินค้า, การควบคุมระบบลำเลียงสินค้า และการควบคุมระบบบริหารจัดการคลังสินค้า เป็นต้น

              ซึ่งในระหว่างที่ AI ช่วยให้ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ขณะเดียวกัน AI ก็ได้สร้างบทบาทและหน้าที่ใหม่ ๆ ให้กับมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์ได้เรียนรู้และเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้อยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้ เพราะเทคโนโลยีไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนมนุษย์ทั้งหมด เทคโนโลยีถูกนำเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน ช่วยลดความผิดพลาดจากการทำงาน และช่วยให้มนุษย์มีความปลอดภัยจากการทำงานที่มีความเสี่ยง

3. ระบบยานพาหนะนำทางแบบไร้คนขับ

              โดรน และยานพาหนะนำทางแบบไร้คนขับ ถูกนำมาใช้งานเกี่ยวกับการจัดสินค้าภายในคลัง โดยโดรนสามารถใช้ตรวจสอบฉลากและนับสินค้าคงคลังได้ อีกทั้งยังแสดงผลทางหน้าจอให้พนักงานได้เห็นถึงการปฏิบัติงาน ทั้งการหยิบสินค้า การจัดเรียงสินค้า และการบรรจุสินค้าภายในคลังแบบเรียลไทม์

              ส่วนยานพานะนำทางแบบไร้คนขับ หรือ Automated Guided Vehicle (AGV) จะถูก    ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถอยู่ในรูปแบบของรถเข็นสินค้า โฟล์คลิฟท์ หรือยานพาหนะอื่น ๆ ได้ ซึ่งทำงานด้วยระบบเซนเซอร์นำทางผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ที่มีประสิทธิภาพ สำหรับใช้เคลื่อนย้ายสินค้าหรือวัตถุไปตามเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ โดยมีการควบคุมความเร็วเอาไว้ล่วงหน้า พร้อมเซนเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวางที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งระบบนำทางนี้มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน เช่น การนำทางด้วยการใช้แถบแม่เหล็กเป็นตัวเหนี่ยวนำ, การติดตั้งแม่เหล็กเป็นหมุดไปตามพื้น, การติดตั้งสายไฟไว้ใต้พื้น, การใช้เลเซอร์สำหรับตรวจจับและนำทาง และการสร้างแผนที่ขึ้นด้วยระบบ AI และให้ระบบอัตโนมัติทำงาน เป็นต้น

4.หุ่นยนต์สำหรับยกและจัดเรียงสินค้า

              หุ่นยนต์สำหรับช่วยยกและจัดเรียงสินค้าแบบอัตโนมัติ ได้รับการออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของพนักงานโดยเฉพาะ มีความสามารถช่วยจัดเรียงสินค้าไปตามชั้นวางสินค้า และช่วยขนย้ายพาเลททั้งก่อนและหลังการขนส่ง โดยการทำงานสามารถกำหนดให้เครนหรือแขนหุ่นยนต์หมุน ยก และจัดวางสินค้าไปตามตำแหน่งที่ติดตั้งเซนเซอร์เอาไว้ได้ และเมื่อมีการย้ายเซนเซอร์ไปยังตำแหน่งใหม่ภายในคลังสินค้า หุ่นยนต์จะย้ายตำแหน่งการจัดเรียงสินค้าตามที่กำหนดไว้ได้อย่างอัตโนมัติ

              เทคโนโลยีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้ประกอบธุรกิจคลังสินค้าไม่ควรนำมาใช้โดยไม่ได้วางแผนให้ชัดเจน การใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องและเหมาะสมจนนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ จะต้องมีการวางแผนถึงความต้องการใช้งาน พร้อมทั้งระบุรายละเอียดของลักษณะงาน รวมไปถึงข้อจำกัด และการวิเคราะห์ถึงอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนการใช้งาน สิ่งสำคัญคือ การคำนวณหางบประมาณที่เหมาะสม จึงจะนำไปสู่การเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมกับธุรกิจอย่างแท้จริงได้

2064581711

              คลังสินค้าอัตโนมัติจะประสบความสำเร็จ และสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้ เมื่อผู้ประกอบการรู้จักวางแผนและเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจ และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจะขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพไม่ได้ หากปราศจากเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่จะช่วยให้คลังสินค้าอัตโนมัติตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ ที่มีเข้ามาอยู่เสมอได้

              AIS Business ผู้ให้บริการโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ที่มีคลื่นมากที่สุด ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พร้อมทีมงานผู้มีความเชี่ยวชาญ มีความยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจคลังสินค้าไทย ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่คลังสินค้าอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทย ให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ด้วยเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และแพลตฟอร์มจากพาร์ทเนอร์ระดับโลก รวมไปถึงการให้บริการโซลูชันด้านคลังสินค้า เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจไทยไปได้ไกลกว่าเดิม ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ais.th/business/enterprise/technology-and-solution/5G-and-iot/solutions/smart-warehouse

วันที่เผยแพร่ 15 พฤศจิกายน 2566

Reference

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business