Gartner ชี้ 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์แห่งปี 2023 ประโยชน์ โอกาส และสิ่งที่ต้องทำในอีก 3 ปีข้างหน้า

              ปี 2022 นี้ที่แม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นดูจะบรรเทาลงไปแล้ว แต่ก็อาจถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่การทำธุรกิจดำเนินไปได้ค่อนข้างยากลำบากพอสมควร ด้วยความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีท่าทีจะสิ้นสุด จนส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตมากมาย ทั้งเรื่องค่าเงิน พลังงาน และสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวพันกันไปทั้งหมด

              แต่ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเป็นอย่างไร “เทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญ (Technology is key)” ในทุกยุคทุกสมัยอยู่เสมอ และล่าสุด Gartner บริษัทที่ปรึกษาวิจัยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกได้ออกมาชี้เป้า 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์แห่งปี 2023 ที่ทุกคนควรจะต้องจับตา และติดตามความก้าวหน้าของแต่ละเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง มาร่วมทำความเข้าใจในแต่ละเทคโนโลยี พร้อมทั้งโอกาส และสิ่งที่ควรทำของภายใน 3 ปีข้างหน้าได้ในบทความนี้

ภาพรวม 4 กลุ่ม จาก 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์

              แน่นอนว่าเทคโนโลยี คือส่วนสำคัญที่จะผลักดันภาคธุรกิจให้เดินไปข้างหน้า หากแต่ Gartner ได้บอกชัดเจนว่าส่วนสำคัญแรกสุดก่อนจะนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้นั้นคือ “การกำหนดวัตถุประสงค์ของกลยุทธ์องค์กรก่อนว่าต้องการอะไรให้ชัดเจน” เหตุผลเพราะแต่ละเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์นั้นจะมีผลต่อเป้าหมายธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน รวมทั้งการมาถึงของแต่ละเทคโนโลยีที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกันไปอีกด้วย ดังนั้น แต่ละองค์กรจึงควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ และอาจทยอยทำไปในทีละส่วนโดยไม่ต้องรีบร้อนมากก็ได้

Credit : Gartner

จาก 10 เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ ทาง Gartner ได้จัดกลุ่มเพื่อแสดงให้เห็นภาพรวมออกมาเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • Optimize มุ่งเน้นปรับปรุงระบบไอทีให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ระบบมีความเชื่อถือ (Reliability) มากขึ้น ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อให้สามารถตัดสินใจ (Decision Making) ได้แม่นยำมากกว่าเดิม
  • Scale เร่งขยายบริการให้เป็นรูปแบบโซลูชันแนวตั้ง (Vertical Solution) เชิงลึกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และทำให้ส่งมอบผลิตภัณฑ์สามารถทำได้ทุกหนทุกแห่ง
  • Pioneer เร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ บุกเบิกไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ ที่อาจเป็นโลกแห่งอนาคต เช่น โลกเสมือน หรือตลาดซื้อขายบนโลกเสมือน
  • Sustainable Technology เทคโนโลยีความยั่งยืนที่หลังจากนี้ทุก ๆ โซลูชันและผลิตภัณฑ์ล้วนต้องพิจารณาร่วมด้วยเสมอว่ามีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน
2086565143

Optimize ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

              1. Digital Immune System: เพิ่มความยืดหยุ่น Digital Immune System (DIS) หรือระบบภูมิคุ้มกันดิจิทัลนั้นคือการปรับใช้เทคโนโลยีและข้อปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อ“เพิ่มความยืดหยุ่น (Resilience)” ของการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อบริการหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขององค์กร เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งการมี DIS ที่แข็งแกร่งจะช่วยปกป้องแอปพลิเคชันหรือบริการของธุรกิจให้สามารถฟื้นตัวจากความผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องในการทำธุรกิจได้ดีขึ้น

              โดย Gartner ได้คาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2025 นี้องค์กรใดที่ลงทุนในการสร้าง DIS ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรได้สำเร็จจะสามารถเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้ดีขึ้นพร้อมกับลดระยะเวลาปิดระบบ (Downtime) ลงไปได้ถึง 80% อันเป็นผลนำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่ง Gartner ได้แนะนำ 6 แนวปฏิบัติเพื่อสร้าง DIS ขึ้นมาภายในองค์กร ดังนี้

  • Observability คือการทำให้ "มองเห็น" ข้อมูลที่จำเป็นภายในซอฟต์แวร์หรือระบบต่าง ๆ ได้ เพื่อตรวจสอบติดตามพฤติกรรมสถานะต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
  • AI-Augmented Testing การทำให้การทดสอบซอฟต์แวร์เป็นอิสระจากการแทรกแซงโดยมนุษย์ให้มากขึ้น หรือ Test Automation ที่สามารถวางแผน สร้าง ปรับปรุง และวิเคราะห์ผลการทดสอบได้ทั้งหมด ซึ่งจะเพิ่มเสริมขึ้นมาจากการทดสอบแบบดั้งเดิม
  • Chaos Engineering การทดสอบอย่างหนักในการค้นหาช่องโหว่และจุดอ่อนที่มีในระบบที่ซับซ้อน เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบว่ามีความยืดหยุ่นเพียงพอก่อนนำขึ้นให้บริการจริง
  • Auto Remediation การสร้างความสามารถในการตรวจสอบปัญหาตามบริบทต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และแก้ไขให้กลับมาทำงานได้ตามปกติอย่างอัตโนมัติโดยตรงภายในแอปพลิเคชันโดยที่ไม่ต้องมีพนักงานมาดูแลแต่อย่างใด
  • Site Reliability Engineering (SRE) ชุดหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ประยุกต์ใช้กับการดูแลโครงสร้างพื้นฐานไอที (IT Infrastructure) ซึ่งต้องสมดุลกันทั้งเรื่องความเร็ว ความเสถียร และความเสี่ยง เพื่อยกระดับการให้บริการ (Service Level) ปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าให้ดีขึ้น
  • Software Supply Chain Security การจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งซัพพลายเชนของซอฟต์แวร์ โดยทั้งห่วงโซ่จะต้องมีความโปร่งใส มั่นคงปลอดภัย ตรวจสอบได้

              ในการสร้าง DIS ขึ้นมาให้แข็งแกร่งนั้น องค์กรควรจะต้องยึดถือแนวคิดและปรับใช้เทคโนโลยีที่มีมาร่วมฝึกซ้อมปฏิบัติจริงกับพนักงานเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งอาจเริ่มต้นที่การหาระบบหรือบริการขององค์กรที่มีความสำคัญสูงสุดและเริ่มประเมินว่ามีความยืดหยุ่นเพียงพอแล้วหรือไม่ พร้อมกับสร้างทีมชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice: CoP) แยกเฉพาะออกมาเพื่อทดลองก่อน ค่อยกลับมาแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำจริง และค่อย ๆ โน้มน้าวให้วัฒนธรรมการสร้าง DIS นั้นกระจายไปทั่วทั้งองค์กร

              2. Applied Observability: ปรับปรุงกระบวนงาน Applied Observability คือการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่สังเกตเห็น (Observable Data) ที่จัดเก็บจากส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ที่ให้บริการในแอปพลิเคชัน จากโครงสร้างพื้นฐานหรือว่าทีมงาน Operations เพื่อนำมาวิเคราะห์และใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกในการ “ดำเนินการตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและทำนายอนาคตได้ถูกต้องกว่าเดิม” เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนแผนเชิงรุก (Proactive) ได้ทันท่วงที ซึ่ง Gartner ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 ราว 70% ขององค์กรที่สามารถประยุกต์ใช้แนวทาง Applied Observability ได้สำเร็จนั้นจะสามารถลดความหน่วงของเวลา (Latency) ในการตัดสินใจดำเนินการได้สั้นลง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในธุรกิจหรือกระบวนการไอทีที่ดีขึ้นกว่าเดิม

              นอกจากนี้ Gartner ยังแนะนำด้วยว่าให้ปฏิบัติกับข้อมูล Observable Data เป็นเหมือนกับ “สินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้อันล้ำค่าที่สุด” ซึ่งข้อมูลดังกล่าวควรจัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ เป็นชุดแคตตาล็อก (Catalog) จัดเรียงไว้อย่างชัดเจน และมีลำดับชั้นของความเข้าใจในความหมาย (Semantic Understanding) สำหรับแต่ละบริบทธุรกิจ เพื่อให้องค์กรสามารถตัดสินใจเชิงรุกด้วยเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

              ตัวอย่างองค์กรที่มีการปรับใช้วิธีการนี้มาอย่างต่อเนื่องคือ Tesla ที่มีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้ขับขี่แบบ Real Time ทั้งจากเซ็นเซอร์หรือว่าจากซอฟต์แวร์ Autopilot อยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาวิเคราะห์และสร้างเป็นข้อมูล Safety Score รายเดือนที่นำไปใช้เสนอขายประกันภัยยานยนต์ให้กับผู้ใช้ Tesla ที่แตกต่างกันได้อย่างรวดเร็ว เหนือไปกว่านั้น ยังลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ลงไปได้ราว 20%-40% เป็นอย่างน้อยด้วย

              3. AI Trust, Risk, and Security Management (AI TRiSM): เสริมความเชื่อใจใน AI ชัดเจนว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้แสดงให้เห็นศักยภาพและประสิทธิภาพอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากแต่ด้วยขีดความสามารถของระบบ AI ที่เหนือว่าซอฟต์แวร์ทั่ว ๆ นี้เอง จึงจำเป็นต้องมีการจัดการในเรื่องของความเชื่อใจ (Trust) ความเสี่ยง (Risk) และความมั่นคงปลอดภัย (Security) ในแนวทางที่แตกต่างออกไปจากวิธีแบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้ Gartner จึงได้ให้นิยามคำว่า “AI TRiSM” นั้นเป็นเสมือนเฟรมเวิร์กที่ผสมผสานกันทั้งโซลูชัน เทคนิค หรือกระบวนการใด ๆ เพื่อสนับสนุนการกำกับดูแล (Governance) โมเดล AI ให้มั่นใจได้ว่าจะมีความน่าเชื่อถือ (Reliability) มีความเป็นส่วนตัว (Privacy) เสมอภาค (Fairness) ทนทาน (Robustness) และทำให้ AI สามารถแปลความหมาย (Interpretability) หรือว่าอธิบายได้ (Explainability)

              โดย Gartner ยังคาดการณ์สำหรับเรื่องนี้ไว้ด้วยว่าภายในปี 2026 องค์กรใดที่สามารถดำเนินการในเรื่อง AI TRiSM ได้สำเร็จแล้ว โมเดล AI จะสามารถให้ผลลัพธ์ในการใช้งานที่ตอบโจทย์เป้าหมายธุรกิจ และเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ได้ดีขึ้นกว่า 50% อีกด้วย ซึ่งชัดเจนว่าโลกอนาคตนั้น AI จะเป็นแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าหากองค์กรไม่สามารถเข้าใจโมเดล AI ได้ หรือไม่ได้มีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงจากระบบ AI ที่ดีพอ มีโอกาสที่องค์กรนั้นจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีแทน ไม่ว่าจะเรื่องประสิทธิภาพของ AI ที่จะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือกระทั่งอาจทำให้เกิดความเสียหายในเรื่องความเป็นส่วนตัวอันเนื่องจากการตัดสินใจดำเนินการที่ผิดพลาดจนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังชื่อเสียงและการเงินขององค์กรได้

              ดังนั้น องค์กรที่มีการพัฒนาและใช้งานระบบ AI จึงควรเริ่มจัดตั้งหน่วยหรือทีมงานเพื่อจัดการเรื่อง AI TRiSM โดยเฉพาะ และพยายามทำให้โมเดล AI ที่สร้างขึ้นมานั้นสามารถอธิบายหรือตีความให้ได้ผ่านเครื่องมือที่มี Opensource อยู่ในตลาดหรือโซลูชันจากผู้ขายใด ๆ รวมทั้งต้องปรับใช้โซลูชันที่ช่วยปกป้องข้อมูลที่โมเดล AI ใช้งานด้วย และแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องทำงานร่วมกันทั้งองค์กรถึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้นได้จริง

2161779273

Scale ขยายบริการให้ลึก ส่งมอบได้ทุกหนทุกแห่ง

              4. Industry Cloud Platforms: ขยายบริการในเชิงลึก คลาวด์คือเทคโนโลยีที่ปัจจุบันองค์กรล้วนใช้งานเพื่อการทำ Digital Transformation กันทั้งสิ้น และ Industry Cloud Platform หรือแพลตฟอร์มคลาวด์ที่มีฟังก์ชันความสามารถเฉพาะเจาะจงตามแต่ละอุตสาหกรรม อันเป็นเทรนด์ที่กำลังจะเห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแต่ละประเภทเกิดความคล่องตัว (Agility) และสามารถเร่งความเร็วในการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ได้ โดย Gartner ได้คาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2027 จะมีองค์กรมากกว่า 50% ที่ใช้ Industry Cloud Platforms เพื่อเร่งการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจให้เร็วขึ้น

              Industry Cloud Platform นั้นอาจมองเป็นการผสมผสานบริการ Software-as-a-Service (SaaS), Platform-as-a-Service (PaaS) และ Infrastructure-as-a-Service (IaaS) ที่สามารถปรับแต่ง (Customizable) ถอดประกอบได้ (Composable) ตามฟังก์ชันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้งาน ซึ่งภายในแพลตฟอร์มมักจะมีชุดฟีเจอร์ยอดนิยมที่ใช้ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ (Packaged Business Capabilites : PBCs) ซึ่งสามารถเลือกมาประยุกต์ใช้ประกอบกันจนกลายเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

              ตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ Industry Cloud Platform จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาได้จริงแล้ว คือเมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในประเทศจีนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด โดยได้ร่วมมือกับ Alibaba บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเพื่อสร้างแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการจราจรที่ติดขัดและสร้างความคล่องตัวให้เกิดขึ้นกับเมืองได้สำเร็จ จนทำให้เมืองหางโจวจากเดิมที่ติดอันดับรถติดที่สุดในโลกในลำดับที่ 5 นั้นหลุด 50 อันดับแรกไปแล้ว

              จะเห็นได้ว่า Industry Cloud Platform สามารถลดเวลาการพัฒนาสิ่งใหม่ไปสู่ตลาด (Time To Market) ลงไปได้อย่างมหาศาล ซึ่ง Gartner แนะนำว่าองค์กรควรจะเริ่มพิจารณาลองปรับใช้ Industry Cloud Platform เพื่อเสริมกับสิ่งที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันได้แล้ว รวมทั้งควรเริ่มสร้างความเข้าใจภายในองค์กรในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

              5. Platform Engineering: ขยายการส่งมอบ Platform Engineering คืออีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ ซึ่งเป็นการสร้าง “แพลตฟอร์ม” ที่มีชุดเครื่องมือที่ใช้งานซ้ำได้ โดยผู้ใช้งานสามารถบริการตัวเองได้ (Self-Service) ได้ทันทีผ่านระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ที่ช่วยเร่งให้การส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือแอปพลิเคชันไปถึงมือผู้ใช้งานได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม

              Nike คือหนึ่งในตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยบริษัทได้สร้าง “Composable Platforms” ที่รวบรวมฟีเจอร์ธุรกิจเชิงกลยุทธ์เอาไว้บนแพลตฟอร์ม ด้วยการจัดวางไว้เป็นโมดูลที่สามารถนำไปเลือกใช้หรือถอดประกอบได้ทันที และเรียกใช้งานได้ผ่าน APIs อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ Nike สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไปสู่ตลาดได้เร็วกว่าเดิม

              จะเห็นได้ว่า Platform Engineering คือการทำให้องค์กรสามารถส่งมอบซอฟต์แวร์อันซับซ้อนได้เร็วขึ้นและมีความทันสมัยกว่าเดิม และในทางอ้อมนั้นยังช่วยลดแรงเสียดทานที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งฝั่งนักพัฒนาระบบ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และผู้ใช้ปลายทางไปได้ด่งบ ซึ่ง Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 นี้กว่า 80% ขององค์กรที่พัฒนาซอฟต์แวร์นั้นจะมีการจัดตั้งทีมสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเสมือนเป็น “ผู้ให้บริการภายใน (Internal Provider)” ทั้งส่วนของ Service ต่าง ๆ หรือ Component เครื่องมือใด ๆ ที่สามารถนำไปใช้ซ้ำได้สำหรับการส่งมอบแอปพลิเคชันได้อย่างฉับไว

              หากใครรู้สึกว่าแนวทางนี้ตอบโจทย์ Gartner แนะนำว่าอาจจะเริ่มต้นด้วยการสร้างช่องทางนักพัฒนาระบบภายใน (Internal Developer Portals : IDPs) เพื่อเริ่มต้นทดลองใช้งานกันเองภายในจนคุ้นชินเสียก่อน และเมื่อเกิดความเข้าใจที่ตรงกันแล้วจึงค่อยขยายกลายเป็นแพลตฟอร์มขององค์กรที่บริการให้ลูกค้าต่อไป ทั้งนี้ ควรจะต้องพิจารณาในเรื่องความมั่นคงปลอดภัย (Security) ไว้ในแพลตฟอร์มอยู่เสมอ และไม่ควรคาดหวังว่าการซื้อแพลตฟอร์มแบบ Turnkey มาใช้งานนั้นจะสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมดด้วย

              6. Wireless-Value Realization: ขยายไปในทุกที่ทุกแห่ง คำว่า “Wireless-Value Realization” นั้นเป็นคำที่ Gartner ต้องการอธิบายว่าเทคโนโลยีไร้สายยุคถัดไปในอนาคตอันใกล้จะสามารถให้บริการที่เหนือไปอีกขั้น ซึ่งการผสมผสานเทคโนโลยีไร้สายต่าง ๆ เข้าด้วยกันจะสามารถสร้างเทคโนโลยีแบบใหม่ที่ฉลาดขึ้นและยังลดค่าใช้จ่ายต้นทุนต่าง ๆ ไปได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวอุปกรณ์ประมวลผลปลายทางต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ โน้ตบุ๊ก หรือว่าเครื่องจักรตามโรงงาน หรือเทคโนโลยีไร้สายอย่าง 5G, WiFi หรือ Bluetooth รวมไปถึงขีดความสามารถใหม่ ๆ เช่น การตรวจจับความรู้สึก (Sensing) การติดตามตำแหน่ง (Location Tracking) เป็นต้น

              เทคโนโลยีไร้สายในอนาคตนั้นจะไม่ใช่แค่การสื่อสารระหว่างกันอีกต่อไป หากแต่จะมีนวัตกรรมและความสามารถใหม่ ๆ ที่ทำให้มูลค่าจริงของสิ่งนั้นสูงขึ้นไปอีก และหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Bosch กับ Siemens ที่มีการประยุกต์ใช้เซ็นเซอร์อัลตราโซนิก (Ultrasonic Sensor) เพื่อทำให้รถยก (Forklift) 250 คันสามารถชะลอความเร็วได้แบบ Real Time และลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่โรงงาน 2.5 ล้านตารางฟุตไปได้ราว 98% และสามารถเพิ่มผลผลิต (Productivity) ได้อีก 10% อีกด้วย

              จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีไร้สายนั้นมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าจนทำให้มีประสิทธิภาพที่คุ้มค่ายิ่งขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับราคาที่จ่าย อีกทั้งยังทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นด้วย ซึ่ง Gartner คาดว่าภายในปี 2025 นี้เอง ราว 50% ของอุปกรณ์ไร้สายขององค์กรนั้นจะใช้บริการเครือข่ายที่มีความสามารถที่เหนือกว่าแค่การสื่อสารกันมากขึ้น จากที่ตอนนี้มีใช้งานกันอยู่น้อยกว่า 15% เท่านั้น ดังนั้น องค์กรควรจะเริ่มออกแบบกลุยทธ์วางโครงสร้างพื้นฐานที่มีความฉลาดมากขึ้นกว่าเดิม และสร้างมาตรฐานการเชื่อมโยงระหว่างกันให้ทันสมัยเพื่อทำให้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญที่องค์กรจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือว่าบริการใหม่ ๆ ต่อไปได้

1463479637

Pioneer บุกเบิกโมเดลธุรกิจสู่รูปแบบแนวใหม่

              7. Superapps : บุกเบิกความผูกพันในแอป เพราะประสบการณ์ของผู้ใช้งานบนโลกดิจิทัลยุคใหม่ที่ต้องการใช้แอปที่มีประสิทธิภาพและใช้งานที่ง่ายด้วย จึงทำให้เกิดคำว่า "Superapp" ขึ้นมา โดยความหมายของคำนี้คือแอปพลิเคชันที่รวบรวมหลากหลายบริการ และสามารถทดแทนหลาย ๆ แอปพลิเคชันได้ในตัวแอปเดียว ที่ผู้ใช้ทั้งตัวลูกค้า พาร์ตเนอร์ หรือพนักงานเองก็สามารถใช้งานได้ในแอปเดียวกันทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่สามารถส่งมอบประสบการณ์แบบส่วนบุคคลให้กับผู้ใช้งานได้ด้วย

              ตามหลักการแล้ว Superapp นั้นจะมีฟีเจอร์แกนหลัก (Core) ส่วนหนึ่งพร้อมกับมีแอปย่อย (Miniapps) อยู่ภายในที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างอิสระต่อกัน เพื่อให้ผู้ใช้เลือกใช้งานได้แบบอิสระตามที่ต้องการ ซึ่ง Superapp จะไม่มีร้านขายแอป (App Store) หรือตลาด (Marketplace) แยกออกมาใด ๆ ทั้งนี้ Superapp นั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นแอปพลิเคชันที่รวมแอปหรือบริการอื่น ๆ ไว้ด้วยกันด้วยการเอามาวางรวมไว้ในหน้าจอเดียวกันแค่นั้น แต่จะเป็นการให้บริการกับผู้ใช้ที่สามารถเลือกเปิดใช้งานแอปย่อยหรือว่าจะถอดออกไปได้อย่างทันทีได้ตามที่ต้องการ พร้อมทั้งสามารถสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคลได้ด้วย

              โดยปกติแล้ว Superapp มักจะอยู่บนแพลตฟอร์มที่มีบริการที่ผู้คนมักนิยมใช้กันจำนวนมาก ๆ อยู่แล้ว เช่น แอปส่งข้อความหรือว่าการชำระเงิน ซึ่ง Gartner คาดว่าปี 2027 นั้น ประชากรโลกมากกว่า 50% จะกลายเป็นผู้ใช้งานรายวัน (Daily Active Users) ของหลาย Superapps รวมทั้งท้ายที่สุดความเป็น Superapp นี้จะขยายไปสนับสนุนในส่วนอื่น ๆ อาทิ แชทบอท IoT หรือ Metaverse ต่อไป ซึ่งหากองค์กรใดยังไม่ได้เริ่มพิจารณาในเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือว่าบริการที่ยึดผู้ใช้เป็นหลัก หาฟีเจอร์แกนหลักที่ดึงดูดผู้ใช้ได้มากให้เจอ แล้วค่อย ๆ ส่งมอบ ดึงดูดให้ผู้ใช้เริ่มมาใช้งานให้มากขึ้นต่อไป

              8. Adaptive AI: บุกเบิกความรวดเร็ว Adaptive AI หรือโมเดล AI ที่ปรับตัวได้ตามสถานการณ์หรือว่าลักษณะข้อมูลที่เข้ามาใหม่หลังจากที่นำไปใช้งานจริงแล้วได้อย่างอัตโนมัติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นระบบ AI ที่สามารถศึกษารูปแบบ (Pattern) ของพฤติกรรมอดีตของมนุษย์หรือว่าเครื่องจักรได้ภายในสภาพแวดล้อมที่ใช้งานอยู่ (Runtime Environment) โดยสามารถปรับแก้ไขโค้ดของตัวเองได้ และปรับเปลี่ยนตัวเองได้รวดเร็วตามสภาพในโลกความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการเป็น Adaptive AI นั้นจะให้ผลลัพธ์ประสิทธิภาพที่รวดเร็วและดีกว่าเดิม

              แน่นอนว่าสำหรับภาคธุรกิจนั้น การตัดสินใจใด ๆ ในธุรกิจล้วนมีความสำคัญ ซึ่งโลกดิจิทัลที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ นั้นย่อมทำให้กระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกเพื่อตัดสินใจนั้นสามารถทำได้ลำบากมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง Adaptive AI คือหนึ่งในคำตอบที่องค์กรจะต้องพิจารณาปรับใช้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วย โดย Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 องค์กรที่มีการปรับใช้แนวทางปฏิบัติเชิงวิศวกรรม AI เพื่อสร้างและบริหารจัดการระบบ Adaptive AI จะสามารถได้โมเดล AI ที่ทำงานได้ดีกว่าโมเดล AI อื่น  ๆ ที่ทำงานคล้าย ๆ กันทั้งในแง่ของตัวเลขและเวลาที่ใช้สร้างโมเดลได้อย่างน้อย 25%

              ปัจจุบันหลายองค์กรได้เริ่ทปรับใช้ Adaptive AI บนกันบ้างแล้ว ตัวอย่างหนึ่งคือ Dow บริษัทผู้ผลิตวัสดุเคมีสัญชาติสหรัฐอเมริกาที่ปรับใช้ Adaptive AI ให้สามารถเสนอแนะ (Feedback) สิ่งที่ควรแก้ไขได้แบบ Real Time จากการวิเคราะห์รูปแบบการทำงานที่ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ จนสร้างมูลค่าได้สูงขึ้นกว่า 320%

              สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นสร้าง Adaptive AI ทาง Gartner แนะนำว่าควรจะต้องสร้างรากฐาน (Foundation) ของระบบ Adaptive AI ในองค์กรด้วยการวางรูปแบบการทำงารให้มีความฉลาดได้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Intelligence Design Pattern) โดยสามารถนำข้อมูลใหม่ ๆ จากโลกความเป็นจริงมาส่งให้ AI เรียนรู้ได้ต่อเนื่อง พร้อมทั้งทำให้ส่งเสริมให้ผู้ใช้ในภาคธุรกิจสามารถปรับใช้ระบบ AI ได้ง่าย ๆ และทำให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบ Adaptive AI พร้อมวัดผลได้ด้วย

              9. Metaverse: บุกเบิกโอกาสใหม่ ๆ เชื่อว่าแทบทุกคนบนโลกต้องได้ยินคำว่า Metaverse มาแล้ว ซึ่งความหมายทางเทคนิค Metaverse คือพื้นที่ที่แบ่งปันกันใช้งานบนโลกเสมือน ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้โลกความเป็นจริงกับโลกบนชีวิตดิจิทัลนั้นมาบรรจบกันได้ ซึ่งบางคนอาจคิดไปว่า Metaverse นั้นคือยุคถัดไปของโลกอินเทอร์เน็ต เพราะช่วงแรกที่อินเทอร์เน็ตเริ่มต้นนั้นเป็นเหมือนหน้าเว็บไซต์หรือว่าเว็บบอร์ดที่ผู้คนจะออนไลน์มาพูดคุยกัน ซึ่งสิ่งนี้จะวิวัฒนาการต่อไปจนกลายเป็นพื้นที่บนโลกเสมือนที่แบ่งปันกันใช้งานได้แทนนั่นเอง โดย Gartner มองว่า Metaverse จะต้องไม่ขึ้นกับชนิดอุปกรณ์และไม่ควรมีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวเฉกเช่นกันอินเทอร์เน็ต ซึ่งแนวคิดนี้จะนำไปสู่การใช้งานเงินสกุลดิจิทัล (Digital Currency) ต่าง ๆ และ Non-Fungible Tokens (NFTs) ต่อไปในอนาคต

              ตัวอย่างองค์กรที่เริ่มมีเดินหน้าในเรื่อง Metaverse แล้ว นั่นคือ JPMorgan Chase ธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกาที่มองว่ามีโอกาสสร้างรายได้สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในโลกของ Decentraland แพลตฟอร์ม Metaverse ชั้นนำของโลก หรือทาง Siemens ที่ได้ร่วมมือกับ NVIDIA สร้างเป็น Industrial Metaverse ที่ลูกค้าจะสามารถใช้ Immersive Environment เพื่อร่วมกันสร้างโซลูชันนวัตกรรมทางวิศวกรรม และแก้ไขปัญหาบนโลกความเป็นจริงที่เกี่ยวข้องกับ Digital Twins, IoT และการวิเคราะห์แบบ Real Time ได้ เป็นต้น

              จริงอยู่ที่หลาย ๆ คนอาจจะมองว่า Metaverse นั้นเป็นเรื่องใหม่ และอาจเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ (Hype) ชั่วคราวเท่านั้น หากแต่ Gartner มองว่า Metaverse นั้นคือนวัตกรรมที่โลกกำลังจะไป และมีมูลค่าทางธุรกิจอีกด้วย เพราะการผสมผสานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่โอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับองค์กรทั่วโลกนั้นจะทำให้เกิด Use Case ใหม่ขึ้นมามากมาย ซึ่ง Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 องค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกมากกว่า 40% จะมีการผสมผสานการใช้งาน Web3, Spatial Computing และ Digital Twins ในโครงการที่อิงกับ Metaverse เพื่อเพิ่มรายได้ขององค์กรให้สูงขึ้น หากแต่ก็ยังเตือนไว้ด้วยว่าไม่ควรทุ่มสุดตัว (All In) ไปเสียทั้งหมด เพราะว่าเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมาก ๆ ณ ตอนนี้

10. Sustainable Technology: ทุกอย่างต้องยั่งยืน

              ใคร ๆ ก็พูดถึงเรื่องเทคโนโลยีความยั่งยืนในทุกวันนี้ อย่างที่จะได้ยินผู้คนมักพูดถึงเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) อยู่เสมอ ซึ่ง Gartner มองว่าเทคโนโลยีความยั่งยืนนั้นเป็นเฟรมเวิร์กที่จะไปแทรกอยู่ในทุก ๆ โซลูชันในอนาคตอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและวัสดุใด ๆ ภายในบริการหรือผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ หรือว่าการเพิ่มความโปร่งใส (Tracebility) การใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) เป็นต้น เทคโนโลยีความยั่งยืนคือสิ่งที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับยังมีส่วนที่จะดึงดูดทีมงานที่มีทักษะให้อยากจะอยู่กับองค์กรต่อไปอีกด้วย

              Gartner ได้คาดการณ์ไว่ว่าภายในปี 2025 กว่า 50% ของ CIOs จะมีมาตรวัดประสิทธิภาพที่เกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนขององค์กรแล้ว ซึ่ง Gartner ได้บอกเฟรมเวิร์ก 3 ส่วนที่ต้องมีในการสร้างเทคโนโลยีความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในองค์กร ได้แก่

  • เทคโนโลยีทรัพยากรธรรมชาติ (Environmental Technologies) ต้องช่วยกันหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของโลก ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้วัสดุธรรมชาติและพลังงานในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไอทีและสถานที่ทำงาน
  • เทคโนโลยีโลกโซเชียล (Social Technologies) การปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ที่ต้องดีขึ้น
  • เทคโนโลยีการกำกับดูแล (Governance Technologies) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้นกว่าเดิม

              นอกจากนี้ Gartner แนะนำว่าทุกองค์กร ควรจะต้องลงทุนในประเด็นเรื่องความยั่งยืน เป็นกลยุทธ์ขององค์กรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานบริการเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อลดผลกระทบของสภาพแวดล้อม หรือการปรับใช้ ซอฟต์แวร์บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์และวัดผลได้ชัดเจนขึ้น พร้อมกับสามารถพิจารณาปรับลดการปล่อยมลพิษให้มากขึ่นในอนาคตต่อไป หรือการพิจารณาปรับใช้ Supply Chain Blockchain เพื่อตรวจสอบและติดตามธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งต่าง ๆ ในห่วงโซ่นั้นมีความยั่งยืนทั้งหมด

บทส่งท้าย

              เรียกว่าต้องจับตาในทุกเทรนด์จริง ๆ ในช่วงนับจากนี้ไปอีก 3 ปีว่าแต่ละเทคโนโลยีนั้นจะมีวิวัฒนาการไปในแนวทางใดต่อไป ทั้งนี้ เชื่อว่ากว่าจะสามารถปรับใช้เทคโนโลยีใด ๆ ให้สำเร็จได้นั้นก็คงจะมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอีกไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าหากว่าองค์กรใดต้องการพาร์ตเนอร์หรือผู้ให้บริการที่มีความพร้อมในหลากหลายเทคโนโลยี  “AIS Business” หนึ่งในองค์กรชั้นนำระดับประเทศที่มีบริการหลากหลาย โซลูชันมากมาย พร้อมพาร์ตเนอร์และระบบนิเวศต่าง ๆ นั้นคือตัวเลือกที่คุณควรจะต้องคิดถึงก่อนเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่มี พร้อมประสบการณ์และ Use Case ที่หลากหลาย จะสามารถขับเคลื่อนให้องค์กรของท่านตามทันกระแสโลกและเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องแน่นอน

วันที่เผยแพร่ 22 ธันวาคม 2565

Reference

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที