รู้ทัน! อาการ FOMO (Fear of Missing Out) กับดักร้ายสายติดเทรนด์

หายไปทำงานแป๊บเดียว
กลับมาคุยกับใครไม่รู้เรื่องเลย!


คุณเคยรู้สึกหงุดหงิดไหมครับ เวลาตามทอปปิกในกระแสไม่ทัน คุณเคยรู้สึกแปลกแยก เวลาตกข่าวบ้างไหม? ถ้าคุณเคยรู้สึกแบบนี้ คุณอาจเสี่ยงกับอาการ FOMO ไม่รู้ตัว!

รู้ทัน! อาการ FOMO

FOMO คืออะไร?

FOMO หรือ Fear of Missing Out คืออาการกลัวตกเทรนด์ รู้สึกกังวลว่าตัวเองจะพลาดอะไรไปหรือเปล่า โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในสังคม และรวมถึงเรื่องเล็ก ๆ อย่างประเด็นในกลุ่มเพื่อนอีกด้วย ซึ่งส่วนมากมักเกิดกับผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างหนัก จนปล่อยให้มันครอบงำชีวิตของเราเกินไป

อาการกลัวตกเทรนด์
อาการกลัวตกเทรนด์

ซึ่งอาการ FOMO นี้ ผมบอกเลยครับว่าไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความเครียด อาการวิตกกังวล และอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ จากการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไป (Social Media Addiction) อีกด้วยครับ


phone aggressive
phone cure
what is fomo?

สังเกตตัวเอง คุณมีอาการ FOMO หรือไม่

คนส่วนมากมักจะไม่ค่อยรู้ตัว ว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของอาการนี้หรือเปล่า วันนี้ผมเลยขอพาทุกคนมาวินิจฉัยตัวเองกันครับ ว่าคุณมีอาการของ FOMO บ้างไหม?

  1. อารมณ์แปรปรวน เมื่อไม่ได้เล่นโซเชียล
  2. ใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 6 ชม./วัน
  3. ต้องอัปเดตตลอดเวลา ไถ Facebook ทุกชั่วโมง, รีทุกเทรนด์ Twitter, เช็ก IG Story ทุกครั้งที่ได้จับมือถือ
  4. กลัวตัวเองตกกระแส หรือรู้ข่าวช้ากว่าเพื่อน ๆ
  5. รู้สึกกังวล เมื่อถูกตำหนิบนโซเชียลมีเดีย
  6. รู้สึกไม่สบายใจ เวลาต้องเลื่อนนัด หรือไม่ได้ไปเจอแก๊งเพื่อน พร้อม ๆ กับคนอื่น
  7. มีอาการซึมเศร้า หรือมีความสุขน้อยลง เมื่อตัวเองไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ต้องการ

ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้เกิน 4 ข้อ ผมบอกได้เลยครับว่า “คุณติดกับดักมันซะแล้ว!”


และรู้ไหมครับ ว่า 80% ของคนที่เข้าข่ายมีอาการ FOMO ยังเป็นคนเอเชียอีกด้วย แถมผลการสำรวจเมื่อปี 2020 ยังพบว่าคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ต ผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมง/วัน หรือกินเวลาถึง 1 ใน 4 เลยล่ะครับ และอาการนี้ก็สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยเลยครับ โดยเฉพาะเหล่าวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่ต้องการค้นหาตัวเอง อยากเป็นที่ยอมรับ และต้องการได้รับความสำคัญมากกว่าวัยอื่น ๆ โซเชียลมีเดียจึงมีอิทธิพลกับคนกลุ่มนี้มากพอสมควรเลยครับ


FOMO เป็นแล้วรักษาได้ไหม?

สำหรับคนที่อยากรักษาอาการเหล่านี้ จริง ๆ แล้วคนรอบข้างมีส่วนสำคัญมากเลยนะครับ ที่จะคอยสังเกต และชวนกันทำกิจกรรม Outdoor หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฟน แต่ก็มีวิธีสำหรับคนที่ต้องการบำบัดอาการติดโซเชียลด้วยตัวเองนะครับ คือ

  1. เปิดโหมดออฟไลน์ หนีจากการแจ้งเตือนบ้าง
  2. จำกัดชั่วโมงการเล่นโทรศัพท์มือถือต่อวัน แล้วใช้เวลาว่างไปกับงานอดิเรกที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือออกไปคาเฟ่ ทานอาหารอร่อย ๆ ก็ช่วยได้นะครับ
  3. Disconnect to Connect ใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องอยู่คนเดียว จะได้ไม่เผลอเล่นสมาร์ทโฟนค
  4. ละสายตาจากหน้าจอทุก 2 ชั่วโมง นอกจากจะไม่ต้องเสี่ยงกับอาการออฟฟิศซินโดรมแล้ว ยังช่วยถนอมสายตาของเราอีกด้วยครับ
  5. และข้อสุดท้ายคือการยอมรับและเปิดใจ ว่าเรามีอาการ FOMO จริง ๆ ถึงจะสามารถเริ่มการบำบัดได้ครับ

หลายคนอาจจะมองว่า FOMO ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แต่ผมอยากบอกว่าเจ้าอาการนี้จะค่อย ๆ กัดกินความสดใส และความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้างทีละนิด และแม้ว่าการรักษาอาการ FOMO อาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งแพทย์ เหมือนกับอาการอื่น ๆ แต่อาการเหล่านี้จะหายได้ ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจที่แข็งแกร่งของคุณ และความใส่ใจจากคนรอบข้าง ที่จะช่วยให้คุณกลับมามีความสุข แม้ไม่ต้องตามเทรนด์เหมือนใคร ๆ ครับ


สุดท้ายนี้ถ้าคุณอ่านบทความจบแล้ว ก็อย่าลืม ปิดคอมพิวเตอร์ ปิดโทรศัพท์ พักสายตาบ้าง แล้วชวนคนข้าง ๆ ไปออกกำลังกาย เอนจอยกับสิ่งรอบตัว เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี แค่นี้ก็ไม่มีใครต้องตกเป็นเหยื่อของ FOMO อีกต่อไปแล้วครับ